องคมนตรีติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี

 

 
58576175 2943953845677636 397152889966952448 n
58704232 2943954725677548 2257902781824237568 n
 

 

 

 

วันที่ 5 ตุลาคม 2563 เวลา 09.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุก องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ เดินทางไปติดตามการดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมี นายอลงกรณ์ แอคะรัจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวต้อนรับ ในการนี้ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำในปัจจุบันของจังหวัดจันทบุรี รวมถึงสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกและในพื้นที่ EEC พร้อมด้วย นายวิทวัฒน์ วันทนียกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจันทบุรี และ นายธรรมนูญ อินทร์นุช ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 9 ได้บรรยายสรุปถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ดำเนินการโดยกรมชลประทานในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างฝายบ้านเขาแดงพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่าใหม่ โครงการก่อสร้างทำนบดินบ้านไทรนอง 2 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสอยดาว โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแห้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอขลุง และการดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี (คลองภักดีรำไพ) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ ณ สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 9 ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี
 
จากนั้นองคมนตรีพร้อมคณะออกเดินทางไปยังประตูระบายน้ำคลองภักดีรำไพ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว องค์การบริหารส่วนตำบลคลองขวาง และราษฎรผู้รับประโยชน์จากโครงการฯ ให้การต้อนรับ
 
ซึ่งโครงการคลองภักดีรำไพนั้น สืบเนื่องเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อโครงการคลองผันน้ำโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรีว่า "คลองภักดีรำไพ" ซึ่งกรมชลประทานได้สนองพระราชดำริในการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ จังหวัดจันทบุรี โดยประโยชน์ในภาพรวมของโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีระบบคลองผันน้ำที่สามารถควบคุมและบรรเทาอุทกภัยในจังหวัดจันทบุรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มช่วงฤดูแล้ง เป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ได้ประมาณ 2,000,000 ลูกบาศก์เมตร จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสามารถส่งน้ำสำหรับพื้นที่เกษตรและใช้ในกิจกรรมอื่นๆ โดยมีพื้นที่รับประโยชน์จำนวน 5,000 ไร่ ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับชาวจันทบุรี
 
ต่อจากนั้น คณะองคมนตรีได้ลงพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำคลองศาลทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อติดตามผลสัมฤทธิ์ของโครงการ พร้อมปล่อยพันธ์ปลาลงสู่อ่างเก็บน้ำในลำดับถัดไป
 
สำหรับอ่างเก็บน้ำคลองศาลทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นอ่างเก็บน้ำในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่น้ำจันทบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองพลู อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี มีความจุประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยพื้นที่เกษตรที่อยู่ใต้อ่างเก็บน้ำได้จำนวนมาก สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2537 มีพื้นที่ชลประทานด้านท้ายอ่างเก็บน้ำประมาณ 13,900 ไร่ ส่งน้ำให้แก่เกษตรกร โดยการปล่อยน้ำลงลำน้ำธรรมชาติ มีฝายทดน้ำเก็บไว้เป็นช่วงๆ เพื่อให้เกษตรกรที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำสูบน้ำไปใช้สำหรับการเกษตรกรรม และยังเป็นแหล่งน้ำของโครงการระบบท่อส่งน้ำบ้านชำตาเรือง ซึ่งเป็นโครงการที่สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองศาลทราย ส่งให้กับพื้นที่ชลประทานตอนบนของอ่างเก็บน้ำอีกประมาณ 2,185 ไร่ โดยโครงการฯ เป็นแหล่งเก็บกักน้ำขนาดกลางเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนบนของจังหวัด ประกอบกับประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนผลไม้ มีความต้องการใช้น้ำสูงในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเปนช่วงที่ผลไม้กำลังออกดอกและผล ทำให้ผลผลิตของราษฎรมีคุณภาพ
 
ในช่วงบ่าย องคมนตรีพร้อมคณะ ได้พบปะกลุ่มราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำคลองศาลทราย จำนวน 14 กลุ่ม มีสมาชิก 119 ราย จากเดิมที่ต้องปลูกพืชโดยใช้น้ำน้อย ซึ่งมีผลผลิตราคาต่ำ แต่เมื่อได้รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองศาลทรายแล้ว ทำให้ปลูกไม้ผล เช่น ทุเรียน และเงาะ จนมีรายได้เพิ่มขึ้นได้ โดยมี นางสาวธิดารัตน์ สัตถี เป็นผู้แทนกลุ่มฯ กล่าวต้อนรับและบรรยายสรุปว่า กลุ่มของตนที่รวมเป็นกลุ่มบริหารการใช้น้ำบ้านชำตาเรืองนั้น มุ่งเน้นความเสมอภาคในการใช้น้ำอย่างพอเพียง และช่วยเหลือตนเอง โดยการประชุมและจัดสรรน้ำให้กันอย่างเท่าเทียม และเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลส่งน้ำ สมาชิกแต่ละกลุ่มจะช่วยกันซ่อมแซมสถานีสูบน้ำและระบบท่อที่ชำรุดเสียหาย ปีละ 1 ครั้ง ก่อนที่จะรับน้ำในครั้งต่อไป