ชป.ตั้งรับเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี

 

 
58576175 2943953845677636 397152889966952448 n
58704232 2943954725677548 2257902781824237568 n
 

 

 

 

วันที่ 24 ก.ย. 63 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 นายสมเกียรติ แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรี นายมีชัย ปฏิยุทธ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแก่งกระจาน นายสันต์ จรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ตลอดจนผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ในการลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดเพชรบุรี ในการนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำช่วงอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
 
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (เขื่อนแก่งกระจาน) มีปริมาณน้ำประมาณ 259 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 13 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำทุ่งขาม ห้วยตะแปด ห้วยทราย พุหวาย หุบกะพง โป่งทะลุ ห้วยวังยาว ห้วยสามเขา กระหร่างสาม พุน้อย ห้วยสงสัย แม่ประจันต์ และห้วยผาก มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 37 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 38 ของความจุอ่างรวมกัน
 
กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี ด้วยการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยพื้นที่ตอนบนจะทำการเก็บกักน้ำ พื้นที่ตอนกลางจะทำการหน่วงน้ำ และเร่งระบายน้ำออกทางพื้นที่ตอนล่าง พร้อมทั้งกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและกำหนดผู้รับผิดชอบประจำจุดเสี่ยง เพื่อให้การประสานงานช่วยเหลือในพื้นที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือเข้าประจำพื้นที่ อาทิ เครื่องสูบน้ำรวม 82 เครื่อง ติดตั้งแล้ว 16 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 116 เครื่อง ทำการติดตั้งประจำพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดระนอง ชุมพร เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์แล้วรวม 15 เครื่อง รถบรรทุกน้ำจำนวน 10 คัน และรถแบ็คโฮอีก 3 คัน พร้อมติดตั้งป้ายเตือนภัยน้ำท่วม 8 แห่ง ได้แก่ เพชรบุรี (ลุ่มน้ำเพขรตอนล่าง) 5 แห่ง ประจวบคีรีขันธ์ (บางสะพาน) 1แห่ง ระนอง(อ.เมือง) 2 แห่ง รวมทั้งตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนและอาคารชลประทานที่อยู่ในความดูแล 66 แห่ง ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการกำจัดวัชพืช ผักตบชวา และสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การระบายน้ำทำได้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญยังได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานระดับจังหวัด ประชุมหารือแนวทางการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำหลากอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
 
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่ ติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ทางสายด่วนกรมชลประทาน โทร. 1460 หรือติดตามสถานการณ์น้ำได้ทาง undefined และ www.rid.go.th