วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 เวลา 09.30 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ และที่ปรึกษาฯ เดินทางไปติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมี นายศุภรัชต์ อินทราวุธ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) นายวัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) นายพฤกษ์ เรืองไวทย ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุตรดิตถ์ นายชวลิต สุราราช ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 3 ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมติดตามผลการดำเนินงานเขื่อนสิริกิติ์ ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์
ในการนี้ นายประสิทธิ์ อุปชิตร ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ บรรยายเกี่ยวกับเขื่อนและสถานการณ์น้ำในเขื่อนสิริกิติ์ โดยเขื่อนสิริกิติ์นั้นถือว่าเป็นเขื่อนดินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน เดิมชื่อ “เขื่อนผาซ่อม” ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนีพันปีหลวง ขนานนามว่า “เขื่อนสิริกิติ์” เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเขื่อนสิริกิติ์ และโรงไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ โดยมีลักษณะโครงการเป็นเขื่อนดินแกนกลางดินเหนียว ความจุอ่างเก็บน้ำ 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 260 ตารางกิโลเมตร ความกว้างสันเขื่อน 12 เมตร ความยาว 810 เมตร ความสูง 113.60 เมตร และมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 1,000 ล้านกิโลวัตต์ นอกจากนี้ทางเขื่อนสิริกิติ์ได้มีการจัดสรรน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูกในที่ราบของสองฝั่งแม่น้ำน่านกับพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และเขื่อนสิริกิติ์ยังช่วยบรรเทาการเกิดอุทกภัยในที่ราบของสองฝั่งของแม่น้ำน่าน ตลอดจนทุ่งเจ้าพระยาลงมาถึงกรุงเทพมหานคร
ต่อมา ช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะเดินทางไปยัง โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบ้านห้วยต้า หมู่ที่ 4 ตำบลนางพญา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปภาพรวมการดำเนินงานของโครงการ โดยเมื่อประมาณปี 2300 กว่า ๆ ได้มีคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานสร้างปักหลักอยู่บริเวณบ้านห้วยท่า ซึ่งบ้านห้วยท่าเป็นหมู่บ้านใหญ่ของตำบลท่าแฝก ประกอบด้วยหมู่บ้าน 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 8 บ้านห้วยต้าใต้ หมู่ที่ 9 บ้านห้วยต้ากลาง หมู่ที่ 10 บ้านห้วยต้าเหนือ และหมู่ที่ 11 บ้านหาดลัง ภายหลังทางราชการ ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “บ้านห้วยต้า” โดยพื้นที่ของหมู่บ้านจะตั้งอยู่บริเวณฝั่งขวาของลำน้ำน่าน ซึ่งระหว่างปี 2509 - 2510 เมื่อทางราชการจะก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งจะทำให้พื้นที่หมู่บ้านของหมู่ที่ 4 ถูกน้ำท่วม ทางราชการจึงให้ราษฎรอพยพมาอยู่ทางใต้ ราษฎรส่วนใหญ่ยินยอม แต่มีราษฎรที่ไม่อพยพลงมาอยู่ 21 ครัวเรือน ราษฎรที่อาศัยอยู่เดิมและกลุ่มที่อพยพมาแล้ว เห็นว่าเขาอยู่กินได้ เลยกลับขึ้นไปอยู่ใหม่ ทำให้ราษฎรเพิ่มขึ้น กลายเป็นหมู่บ้าน ทางราชการจึงได้ประกาศเป็นหมู่บ้านขึ้นในปี 2516 โดยขึ้นอยู่กับตำบลท่าปลา หมู่ที่ 11 ตำบลท่าปลา และในปี 2521 ได้มีการประกาศตั้งตำบลนางพญาขึ้น บ้านห้วยต้าจึงขึ้นอยู่กับตำบลนางพญาจนถึงปัจจุบัน ในปัจจุบันทางหมู่บ้านได้มีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากโครงการศิลปาชีพตามพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อาทิ เช่น กลุ่มทอผ้า กลุ่มแกะสลัก และกลุ่มจักสานเครื่องเงิน นอกจากนี้ภายในบ้านห้วยต้ายังประกอบไปด้วยโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการกองทุนเรือพระราชทานบ้านห้วยต้า โครงการยุ้งฉางข้าวพระราชทานบ้านห้วยต้า และโครงการบ่อเพาะเลี้ยงและขยายพันธ์กบนาบ้านห้วยต้า