วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 เวลา 09.30 น. พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และที่ปรึกษาฯ เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายยงยส เนียมทรัพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผนและโครงการ) นายปริญญา คัชมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 นายสัณฐิต พีรานนท์ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายสันติพันธุ์ พันธุขันธ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุบลราชธานี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และส่วนราชการในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ณ ห้องประชุมพรหมวรราช ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
ในการนี้ นายยงยส เนียมทรัพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผนและโครงการ) บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้น นายปริญญา คัชมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำของลุ่มน้ำมูล และการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานกรรมการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะในการใช้น้ำ และส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ และสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน
ต่อมา องคมนตรี และคณะ เดินทางไปยังพื้นที่จุดบรรจบแม่น้ำชี-มูล บ้านท่าขอนไม้ยูง ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในการนี้ นายเศรษฐพงศ์ ภิงคารวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 ได้บรรยายการบริหารจัดการน้ำในโครงการพื้นที่ลุ่มแม่น้ำชี-มูล โดยจุดบรรจบแม่น้ำชี-มูล เป็นจุดที่แม่น้ำชีไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูล ซึ่งแม่น้ำมูลจะอยู่ท้ายเขื่อนหัวนาประมาณ 14 กิโลเมตร และแม่น้ำชีจะอยู่ท้ายเขื่อนธาตุน้อย ประมาณ 68 กิโลเมตร โดยจุดนี้ในฤดูน้ำหลากจะเป็นจุดรวมแม่น้ำทั้ง 2 สาย ก่อนไหลเข้าตัวอำเภอเมืองอุบลราชธานีและอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี การบริหารจัดการน้ำในจังหวัดอุบลราชธานีจำเป็นต้องมีการบูรณาการร่วมกัน ระหว่างสำนักงานชลประทานที่ 8 เป็นต้นน้ำมูล สำนักงานชลประทานที่ 6 เป็นต้นน้ำชี และสำนักงานชลประทานที่ 7 อยู่ปลายน้ำของทั้ง 2 ลุ่มน้ำ โดยจะใช้วิธีการพร่องน้ำในแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีให้ลดลงเพื่อให้มีช่องว่างรองรับน้ำใหม่ ซึ่งจะต้องไม่กระทบต่อการอุปโภคบริโภค ด้วยการระบายน้ำจากเขื่อนต่าง ๆ เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน จะใช้วิธีการให้ช่วงต้นน้ำเก็บกักน้ำให้เต็มที่ ช่วงกลางน้ำจะใช้อาคารชลประทานที่มีอยู่ในการหน่วงหรือชะลอน้ำเพื่อจัดจราจรน้ำ และช่วงปลายน้ำจะเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุดโดยการแขวนบานเขื่อนปากมูล
จากนั้นช่วงบ่าย องคมนตรี และคณะ ได้เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ในการนี้ นายสันติพันธุ์ พันธุขันธ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุบลราชธานี ได้บรรยายสรุปผลการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือตอนล่างฯ โดยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริสรุปความว่า "...จะต้องทำการพัฒนาให้เข้าใกล้ชายแดนมากขึ้น จะต้องเข้าไปถึงในที่ที่จะทำให้สามารถสร้างหมู่บ้านตามชายแดน ซึ่งจะเป็นส่วนที่รักษาความปลอดภัยของประเทศได้มากขึ้น ตามแผนที่นั้นมีแห่งหนึ่งที่เป็นช่องเห็นได้ชัด คือ ช่องบกในเขตอำเภอน้ำยืนในบริเวณนี้จะมี 2 ห้วย มาบรรจบกัน เราก็สามารถกั้นอ่างเก็บน้ำสูงประมาณ 10 เมตร ถ้าทำระบบให้ดีก็สามารถเลี้ยงพื้นที่ได้ถึง 10,000 ไร่..." ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือตอนล่างฯ แล้วเสร็จเมื่อปี 2531 มีลักษณะโครงการเป็นทำนบดิน ความกว้าง 8.00 เมตร ความยาว 2,170.00 เมตร ความสูง 13.50 เมตร ความจุที่ระดับเก็บกัก 33.5 ล้านลูกบาศก์เมตร และต่อมาก่อสร้างระบบส่งน้ำประกอบด้วยคลองส่งน้ำ 1 สาย และสายซอย 7 สาย ความยาวรวม 27.81 กิโลเมตร ทำให้ราษฎรตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี และราษฎรตำบลนาจะหลวย อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี มีน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภค และสนับสนุนพื้นที่การเกษตร ประมาณ 5,823 ไร่ รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูฝน