ชป.เดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำแก้แล้ง/แก้ท่วม จ.สระแก้ว

 

 
image-1
IMAGE-2
 
 
 
 
 
 
 
 

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นำทีมเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว มุ่งแก้ปัญหาน้ำท่วม/น้ำแล้ง สร้างแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตร พัฒนาพื้นที่อย่างเป็นระบบและยั่งยืน

วันที่ 8 ต.ค.64 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม/น้ำแล้ง ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปแนวทางการบริหารจัดการน้ำและแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม/แล้ง ตลอดจนแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำ ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(8ต.ค.64) อ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 217.81 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 201.24 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี

ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่จังหวัดสระแก้วเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ จึงทำให้ประสบปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก ประกอบกับยังไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำที่เพียงพอ จึงทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง

กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในเขตอำเภออรัญประเทศ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม/น้ำแล้ง ในพื้นที่จังหวัดสระแก้วอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำหนองบัวเหนือ(2567-2570) เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 8.61 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์รวม 11,500 ไร่ ประตูระบายน้ำคลองยาง(2567-2569) เพิ่มปริมาณน้ำ 0.71 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 1,200 ไร่ คลองผันน้ำเลี่ยงเมือง(2568-2570) เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก 6 ล้าน ลบ.ม. และประตูระบายน้ำคลองพรมโหดและสถานีสูบน้ำ พร้อมพนังป้องกันน้ำท่วม(2566-2568) สามารถระบายน้ำได้ 10 ลบ.ม./วินาที ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในช่วงน้ำหลาก ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองอรัญประเทศ ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งให้กับพื้นที่ได้อีกด้วย

ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กรมชลประทาน เร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาด้านน้ำในระดับพื้นที่ร่วมกันได้อย่างตรงจุด

กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
8 ตุลาคม 2564