เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำริกับนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กปร. ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปความว่า “การระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ให้พิจารณาขุดลอกคลองระบายน้ำโดยมีขนาดที่เหมาะสมไม่ใช่เพื่อระบายน้ำเฉพาะบริเวณสนามบิน ให้พิจารณารวมบริเวณรอบ ๆ ด้วย”
กรมชลประทานจึงได้ทำการว่าจ้างสถาบันที่ปรึกษา ประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อดำเนินงานศึกษาสำรวจและออกแบบเบื้องต้น แล้วเสร็จเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2547 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเปิดโครงการเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2547
ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (ปี พ.ศ.2548 – ปี พ.ศ.2553)
ประโยชน์ที่ได้รับ
1. ลดความเสียหายจากพื้นที่น้ำท่วมโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง
2. ลดปัญหาการจราจรบริเวณพื้นที่โครงการและจังหวัดสมุทรปราการ
3. เป็นแหล่งน้ำจืดสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งเพื่อการเกษตรกรรม
4. การบริหารจัดการน้ำหลากมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ลักษณะโครงการ
- คลองระบายน้ำ ยาวประมาณ 12.65 กม. เป็นคลองดินท้องคลองกว้าง 48 ม. ลึก 3.36 ม. ระบายน้ำได้สูงสุด 100 ลบ.ม./วินาที พร้อมถนนบนคันคลอง ผิวจราจร Asphaltic Concrete กว้าง 7.0 ม. ไหล่ทางข้างละ 1.0 ม. โดยเชื่อมจากถนนสุขุมวิท ไปจนถึงถนนบางนา – ตราด จำนวน 2 ช่องจราจร และได้เผื่อพื้นที่บางส่วนไว้เพื่อรองรับการขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจรในอนาคต
- อาคารประกอบในคลองระบายน้ำ ประกอบด้วย
1. อาคารสะพานน้ำยกระดับและอาคารทิ้งน้ำรูปตัดตัวยู ท้องคลองกว้าง 25.0 ม. สูง 3.15 ม. ยกสูง 5.0 ม. ข้ามคลองชายทะเลและถนนสุขุมวิท
2. สะพานรถยนต์ 6 แห่ง อาคารรับน้ำจากคลองสำโรง อาคารประตูระบายน้ำ ด้านข้างคลองระบายน้ำ 22 แห่ง
3. สถานีสูบน้ำ 1 แห่ง ระบายน้ำได้สูงสุด 100 ลบ.ม./วินาที (เครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง) พร้อมระบบควบคุมการทำงานของเครื่องสูบน้ำด้วยระบบคอมพิวเตอร์
4. สถานีไฟฟ้าย่อย, ระบบควบคุมระยะไกล, ระบบโทรมาตรอุทกวิทยา และส่วนประกอบอื่นๆ
ภาพโครงการ


พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง มีลักษณะของพื้นที่บริเวณทิศตะวันตกตอนล่างเป็นพื้นที่ลุ่มมีระดับพื้นดินต่ำ บางแห่งมีลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งท้องกระทะ ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ และส่วนหนึ่งเกิดจากการทรุดตัวของแผ่นดินด้วยปัจจัยต่างๆ พื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นพื้นที่บริเวณชานเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร จึงเป็นสถานที่รองรับการขยายตัวจากความหนาแน่นของประชากรในเขตเมืองหลวง เป็นชุมชนที่พักอาศัย บ้านจัดสรร นิคมอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย ตลาด ร้านค้า รวมถึงหน่วยงานของรัฐและเอกชน เพิ่มขึ้นในเขตพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการพัฒนาด้านต่างๆ ตามมาอย่างรวดเร็ว เช่น มีการสร้างระบบทางด่วน การสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ตั้งอยู่บริเวณทางน้ำหลาก ทำให้สูญเสียพื้นที่รองรับน้ำกว่า 20,000 ไร่ การสร้างและการขยายถนน โครงการบริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การสูบน้ำบาดาล ตลอดจนการปลูกสร้างที่พักอาศัย โรงเรือนต่างๆ เป็นต้น จากลักษณะทางกายภาพของพื้นที่โครงการที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ รวมถึงการขยายตัวและการพัฒนาพื้นที่อย่างรวดเร็ว ไม่เป็นไปตามผังเมืองรวมอย่างเป็นระบบ ไม่มีการสร้างความพร้อม และเตรียมการในแนวทางการแก้ไขและป้องกัน ซึ่งย่อมจะส่งผลต่อสาธารณะเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดสภาวะน้ำท่วมขังในพื้นที่ส่วนนี้ต่อเนื่องลึกเข้าสู่พื้นที่ชั้นกลางและชั้นในของกรุงเทพมหานครและพื้นที่ปริมณฑล