 
 
 

3 หน่วยงาน จับมือพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กที่ประตูระบายน้ำและอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน กว่า 33,000 แห่งทั่วประเทศ คาดได้กระแสไฟฟ้า 200-300 เมกะวัตต์ เผยพลังงานที่สะอาด ต้นทุนต่ำ รักษาสิ่งแวดล้อม ย้ำไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค และเกษตรกรรม
นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กที่ประตูระบายน้ำและอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานทั่วประเทศ เพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าในอนาคต รวมทั้งยังจะช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างคุ้มค่า และก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะทำการศึกษาวางแผนหลัก โดยจะศึกษาครอบคลุมถึงศักยภาพและความเป็นไปได้ในการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กทั้งแบบน้ำไหลผ่าน(พลังงานจลน์)สำหรับผลิตไฟฟ้าที่ประตูระบายน้ำ และแบบพลังน้ำ(พลังงานศักย์) สำหรับอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานทั่วประเทศ รวมทั้งการจัดอันดับความสำคัญก่อนหลังของการดำเนินงานในระยะที่ 2 โดยจะใช้เวลาในการศึกษาประมาณ 1 ปี
ระยะที่2 เป็นการนำผลการศึกษาในระยะที่ 1 มาดำเนินการออกแบบเพื่อดำเนินการก่อสร้างให้เห็นผลเป็นรูปธรรม และระยะที่ 3 เป็นการบริหารและการใช้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า จากการสำรวจประตูระบายน้ำและอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานทั่วประเทศในเบื้องต้นพบว่า มีศักยภาพที่จะพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กได้ประมาณ 33,000 แห่ง ซึ่งจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้ารวมได้ประมาณ 200-300 เมกะวัตต์(MW) โดยจะไม่มีผลกระทบใดๆต่อปริมาณการใช้น้ำเพื่อการการเกษตร อุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นการปล่อยน้ำผ่านเครื่องผลิตไฟฟ้าก่อนที่จะนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆเท่านั้น
นายอดิศร เกียรติโชควิวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว กฟภ.เป็นหน่วยงานสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษา ออกแบบ และดำเนินการก่อสร้าง รวมทั้งการบริหารจัดการใช้ประโยชน์จากโครงการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 20 % ภายในปี 2556ซึ่งในส่วนของการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กตามปกติแล้วจะใช้เงินลงทุนประมาณ 50 ล้านบาทต่อไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ (1,000 กิโลวัตต์) แต่ไฟฟ้าที่ได้จะมีต้นทุนการผลิตเพียงหน่วยละ 2.15 บาทเท่านั้น ถือว่าเป็นต้นทุนที่ต่ำมาก และอนาคตจะใช้เป็นต้นแบบของโครงการสถานีผลิตพลังงานชุมชนของ กฟภ.
รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรฯ จะรับผิดชอบในการจัดหาบุคลากรที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญมาทำการศึกษาวางแผนหลัก และออกแบบรายละเอียด ซึ่งพลังน้ำที่ได้ยังถือเป็นพลังงานที่สะอาดไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และจะช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าเชื้อเพลิงอีกด้วย
------------------------------------------
|